พระเครื่องทั้งหมด 982 ชิ้น 
     ตะกร้าพระเครื่อง : (0) 
ประเภทพระเครื่อง
ภาพวาดผลงานศิลปิน,รูปถ่ายเก่าซีเปีย (135) พระกริ่ง รูปหล่อ เหรียญหล่อ (81) เหรียญพระพุทธ เหรียญเกจิ เหรียญที่ระลึก (34) เครื่องราง (188) พระปิดตาเนื้อโลหะ,ผงคลุกรักษ์ (36) พระเนื้อผง ดิน ว่าน (60) พระบูชา (103) หนังสือพระ (1) ศาสตราวุธโบราณ (45) อนุรักษ์พระกรุ (13) พระเครื่องเรื่องเล่าตำนานสายเหนียว (7)
เมนูช่วยเหลือ
วิธีการสั่งซื้อ
วิธีการชำระเงิน
คำถาม-ตอบ
เงื่อนไขการสั่งซื้อ
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา
พระเครื่องที่บูชาแล้ว
พระใหม่ 100 รายการ
โปรโมชั่นพิเศษ
สถิติสินค้า
พระเครื่องทั้งหมด 982 ชิ้น
พระเครื่องถูกจองแล้ว 7 ชิ้น
พระเครื่องบูชาแล้ว 2 ชิ้น
พระเครื่องคงเหลือ 694 ชิ้น
บทความน่าอ่าน
ถูกจริงแท้ แท้หรือเปล่า?
ต่อพระน่าเกลียดไปมั้ย?
ไม่มีกล้องห้ามดู ไปไกล ๆ
ทำไมไม่รับ? พกง.เก็บเงินปลายทาง
ประวัติผู้สร้างพระเครื่อง
หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม
หลวงปู่ครีพ วัดสมถะ
หลวงพ่อโต วัดเนิน
หลวงปู่ภู่ วัดนอก
หลวงพ่อรวย วัดท่าเรือแกลง
หลวงพ่อหิน วัดหนองสนม
หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ
หลวงพ่อพุธ วัดป่าสาลวัน
หลวงพ่อสนิท วัดลำบัวลอย
หลวงปู่กงมา วัดดอยธรรมเจดีย์
หลวงปู่เจี๊ยะ วัดภูริทัตตปฏิปทาราม
หลวงปู่เผือก วัดสาลีโขภิตาราม
หลวงปู่เหรียญ วัดบางระโหง
หลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ
หลวงพ่อเส็ง วัดประจันตคาม
ประวัติผู้สร้างทั้งหมด
อัตราแลกเปลี่ยน
ราคาน้ำมัน
ชำระผ่านธนาคาร
 ไทยพาณิชย์ 136-232797-4  กสิกร 735-2-43729-2  กรุงเทพ 009-006097-1  กรุงไทย 086-0-22285-3
 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม

พระเครื่อง ศักดิ์ตลิ่งชัน


พระเครื่อง อีซี่อมูเล็ต


 
หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง
หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง

ประวัติ หลวงพ่อทาบ  อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
 
หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง หรือพระครูอรรถโกศล เป็นคนระยองโดยกำเนิด เกิดที่บ้านนาตาขวัญ ต. นาตาขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อวันศุกร์ เดือนหก ปีฉลู ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๐ โยมบิดา ชื่อ อุ่น เพชรนคร โยมมารดา ชื่อ ฉิม พื้นเพเป็นชาวจังหวัดจันทบุรี ท่านมีพี่น้องถึง ๘ คน หลวงพ่อทาบเป็นน้องคนสุดท้อง
 
สมัยท่านเป็นเด็กมีคนเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน เมื่อโยมของท่านจับปลามาขังไว้เพื่อประกอบอาหาร ท่านมักจะปล่อยลงน้ำไปหมดด้วยความสงสาร จนถูกโยมบิดามารดาดุเอาหลายครั้งหลายหน แต่เมื่อมีโอกาสท่านมักจะปล่อยปลาลงน้ำไปเสมอๆ จนโยมท่านต้องงดนำปลาเป็นๆ มากักขังไว้ หลวงพ่อทาบท่านได้เริ่มต้นเล่าเรียนเมื่ออายุได้เพียง ๔-๕ ขวบ พออายุได้ ๒๐ ปี เข้าสู่วัยฉกรรจ์ ท่านก็ถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือรับใช้ชาติตามหน้าที่ของลูกผู้ชายอยู่ถึง ๔ ปี จึงได้ปลดประจำการ หลังจากนั้นท่านก็บวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดามารดาทั้งสองคนโดยมีพระครูสมุทรสมานคุณ (แหยว) เจ้าอาวาสวัดป่าประดู่เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มาก เจ้าอาวาสวัดนาตาขวัญเป็นพระกรรมวาจารย์ และพระอาจารย์รวม วัดบ้านแลง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อทาบเป็นพระหนุ่มที่เคร่างครัดสำรวมขยันขันแข็งมาก ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยและสามารถแปลมูลกัจจายน์มงคลทีปนี้ได้ในพรรษาแรก นอกจากนี้หลวงพ่อทาบก็ยังได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อมาก พระกรรมวาจารย์ของท่านอีก จากนั้นท่านก็ไปอยู่รับใช้พระอุปัชฌาย์อีกประมาณ ๒ ปี ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากพระอุปัชฌาย์จนหมดสิ้น
 
พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อทาบ คือ พระครูสมุทรสมานคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดระยอง ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแหยว เป็นผู้มีวิชาอาคมขลังยิ่งรูปหนึ่งในจังหวัดระยองยุคนั้น โดยเฉพาะทางด้านเมตตามหานิยม เล่ากันว่าผ้ายันต์พัดโบกของท่านนั้น ใช้โบกไปทางไหนผู้หญิงก็จะต้องตามไปทางนั้นทันที เรียกว่าหลวงพ่อมีชื่อเสียงทางผ้ายันต์หรือผ้าพัดโบกมาก
 
เมื่อหลวงพ่อทาบบวชได้พรรษาที่ ๕ พ้นจากการเป็นพระนวกะแล้ว ท่านก็เริ่มออกเดินธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร และแสวงหาพระอาจารย์ดี ๆ ไปตามที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น หลวงพ่อทาบชอบพอกันหลวงพ่อทิมมาก เคยไปธุดงค์และแสวงหาพระอาจารย์ด้วยกันหลายครั้งหลายหน
 
หลวงปู่ทิม(วัดละหารไร่)เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าสมัยท่านเป็นทหารเรือลูกหมู่อยู่นั้น มีทหารเรือรุ่นเดียวกับท่านอยู่คนหนึ่ง หน้าตาอัปลักษณ์ แอบไปหลงรักหญิงสาวหน้าตาดีอยู่คนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับกองทหาร ผู้หญิงคนนี้มีทหารหลายคนไปเกี้ยวพาราสีกันอยู่ โดยเหตุที่เพื่อนของท่านหน้าตาไม่ดี จึงถูกตราหน้าว่า “แม้ชายผ้าถุงก็อย่าหมายได้เห็น” เพื่อนของท่านเกิดความอับอายเพื่อนฝูงจึงกล่าวกับท่าน (หลวงปู่ทิม) ว่า “พวกมึงคอยดู กูออกทหารเมื่อไร กูจะพาอีนี่กลับไปบ้านด้วย มันจะต้องร้องตามกู แล้วพวกมึงคอยดู...”
 
เมื่อเพื่อนทหารผู้นั้นถูกปลดประจำการพร้อมกับท่าน หญิงสาวขวัญใจทหารในกองร้อยที่ทุกคนหมายปองก็หอบผ้าหอบผ่อนตามพลทหารเพื่อนของท่านกลับไปบ้านค่ายด้วยท่ามกลางความงุนงงของเพื่อนทหารโดยทั่วไป และได้อยู่กินกับเพื่อนทหารผู้อัปลักษณ์ของท่านคนนั้นอย่างมีความสุข มีลูกหลานอยู่ในบ้านค่ายมาจนทุกวันนี้ หลวงปู่ทิมท่านถามเพื่อนของท่านว่าใช้อะไรจึงทำให้ผู้หญิงตามมาทั้งๆ ที่เขาไม่เคยรักเราเลย เพื่อนของท่านตอบว่า ใช้ผ้าพัดโบกของหลวงพ่อกาจ ซึ่งท่านทำให้ไว้คราวลงมาเป็นทหาร
 
ดังนั้นในยุคที่หลวงปู่ทิมเป็นพระหนุ่มที่ใฝ่หาวิชาอาคมใส่ตัว จึงจดจำเรื่องอานุภาพของผ้าพัดโบกหลวงพ่อกาจได้อย่างฝังใจ และชวนหลวงพ่อทาบเพื่อนเกลอไปขอร่ำเรียนวิชาพัดโบกจากหลวงพ่อกาจด้วยกัน แต่หลวงพ่อกาจให้ท่านเรียนวิชาได้เพียงคนเดียว ส่วนหลวงพ่อทาบไม่ได้เรียน ผมถามว่าเป็นเพราะเหตุใด หลวงปู่ทิมท่านตอบว่า “ก็นี่ (หลวงปู่ทิมท่านมักเรียกสรรพนามแทนตัวท่านว่า “นี่”) รู้ว่าหลวงพ่อกาจท่านชอบสูบกัญชา นี่จึงเอากัญชาติดมือไปถวายท่านด้วยหนึ่งห่อ หลวงพ่อกาจเลยสอนวิชาให้ ส่วนท่านพี่ทาบไม่เอากัญชาติดมือไปด้วย หลวงพ่อท่านก็ไม่ยอมสอนให้”
 
หลังจากที่ได้ยินได้ฟังเรื่องอิทธิฤทธิ์ของผ้าพัดโบกของหลวงพ่อกาจแล้ว ผู้เขียนก็แสวงหาผ้ายันต์พัดโบกของหลวงพ่อกาจมาศึกษาก็ได้พบของจริงเข้าจนได้ พัดโบกหลวงพ่อกาจที่ผู้เขียนพบเป็นของครูตุ๋ย ครูโรงเรียนวัดกระบกขึ้นผึ้ง ซึ่งได้มาจากผู้เฒ่าผู้แก่แถววัดกระบกขึ้นผึ้ง ผ้ายันต์ผืนนี้เป็นสีแดงเขียนด้วยหมึกจีนสีดำ ในหมึกจีนสีดำนั้นเมื่อส่องด้วยแว่นขยายแรงสูงดูแล้วเข้าใจว่าหมึกดำคงจะผสมด้วยว่านยาต่างๆ อันเป็นเคล็ดลับ ซึ่งน่าจะได้แก่ ว่านสาวหลง ไม้ไก่กุก ไม้กาฝากรัก ว่านช้างผสมโขลง ว่านดอกทอง เป็นต้น ลายมืออักขระขอม คงเป็นลายมือของหลวงพ่อกาจ เพราะท่านผู้เฒ่าเจ้าของผ้าพัดโบกผืนนั้น ยืนยันว่าพัดโบกผืนนั้นหลวงพ่อกาจลงเอง กลางอักขระเลขยันต์เป็นรูปเทวดาหญิงชายสององค์ยืนกอดกัน ต่อมาวิชาพัดโบกนี้หลวงปู่ทิมได้นำมาประยุกต์ดัดแปลงเสียใหม่ โดยไม่ใช้รูปเทวดาแต่งชุดทั้งองค์มาปรากฏให้เห็น แต่ก็ใช้ผ้าสีแดงทำเช่นกัน
 
ส่วนผ้ายันต์พัดโบกของหลวงพ่อทาบนั้นท่านก็ได้สร้างขึ้นไว้ครั้งหนึ่งจำนวนมากพอสมควร แต่เป็นยันต์พิมพ์เพื่อแจกแก่ผู้ทำบุญในงานผูกพัทธสีมาของวัดกระบกขึ้นผึ้ง โดยใช้ผ้าสีขาว ปัจจุบันผ้ายันต์ชุดนี้ของหลวงพ่อทาบก็หายากแล้ว ใครมีใครก็หวง เพราะอานุภาพใช้ดีทางเมตตาค้าขายไม่เสียทีที่หลวงพ่อทาบได้สมญาว่า เทพเจ้าแห่งเมตตานิยมสีผึ้งเขียวอันลือลั่น
 
เหตุที่ทำให้หลวงพ่อทาบมีชื่อเสียง
 
เหตุที่จะทำให้หลวงพ่อทาบมีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นเอกในด้านเมตตามหานิยมและเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป ก็มาจากสีผึ้งเขียว เมื่อหลวงพ่อทาบมีอายุล่วงเข้า ๘๐ พรรษาเศษแล้ว ท่านใช้เวลารวบรวมมงคลวัตถุต่าง ๆ เป็นเวลานานถึง ๔ ปีเศษ
 
หลังจากนั้นท่านก็เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในแถมละแวกวัดกระบกขึ้นผึ้งและคนในถิ่นใกล้เคียง จนเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในย่านนั้น เมื่อเจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้งมรณภาพลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดกระบกขึ้นผึ้ง ท่านไม่สามารถขัดศรัทธาของชาวบ้านได้ จึงจำใจต้องรับตำแหน่งนั้น การพัฒนาวัดกระบกขึ้นผึ้งในสมัยท่านไปด้วยดี เพราะได้รับแรงศรัทธาจากประชาชน จนหลวงพ่อทาบสามารถสร้างกุฏิ วิหาร โบสถ์ ได้อย่างรวดเร็วในยุคของท่าน
 
นอกจากงานพัฒนาทางวัดแล้วหลวงพ่อทาบยังได้สงเคราะห์ญาติโยมที่เดือดร้อนทางใจและตกทุกข์ได้ยาก โดยการทำน้ำมนต์อาบขจัดทุกข์ขจัดโศก จนบุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อทาบจึงเลื่องลือระบือออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ จนจัดเป็นเกจิอาจารย์ที่มีเกียรติคุณอย่างยิ่งรูปหนึ่งในบ้านค่าย
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงพ่อทาบ เพชรนคร ได้รับแต่งตั้งได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล อันเป็นการแสดงออกถึงความสามารถในการปกครองของท่าน และในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็ได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่พระครูอรรถโกศล ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวบ้านและศิษยานุศิษย์น้อยใหญ่ ถึงกับมีการแห่แหนสัญญาบัตรพัดยศจากวัดป่าประดู่เข้ามายังวัดกระบกขึ้นผึ้ง
 
การขอรับสีผึ้งจากหลวงพ่อในสมัยก่อน
 
สำหรับผู้ที่จะมาขอสีผึ้งเขียวของท่านนั้น กว่าจะได้ก็แสนจะลำบากยากเย็น เล่ากันว่าผู้ต้องการจะได้สีผึ้งเขียวของท่านจะต้องมานอนค้างคืนกันที่วัดหลาย ๆ คืน และหลาย ๆ ครั้ง จนหลวงพ่อทาบเห็นความมานะอดทนว่า ต้องการได้จริง ๆ ท่านจึงจะให้ แต่ท่านจะหยิบให้เพียงเท่าหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น สีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบเมื่อใครได้มาแล้วเหมือนกับได้ของวิเศษที่เปี่ยมไปด้วยส่วนผสมแห่งเมตตามหานิยม คนเล่นของในสมัยนั้นจึงนำสีผึ้งหลวงพ่อทาบที่ได้มาเพียงแค่หัวไม้ขีดไฟมาเลี่ยมทองหุ้มใส่สายสร้อยหรือแขวนติดตัว แต่ก่อนจะมอบสีผึ้งเขียวให้แก่ผู้ใด หลวงพ่อทาบจะสั่งสอนวิธีใช้ให้ สำหรับเรื่องผู้หญิงนั้น ถ้าจะใช้สีผึ้งนี่ก็ขอให้ใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ ได้เขาสมใจแล้วก็อย่าไปทิ้งไปขว้าง มิเช่นนั้น จะเกิดวิบัติ
 
อานุภาพสีผึ้งหลวงพ่อทาบ
 
นักเลงรุ่นเก่าชาวระยองยอมรับว่าสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบนั้นยอดเยี่ยมจริง ๆ ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังโดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง ท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่งใน ต.ตาสิทธิ์ ติดกับวัดหลวงปู่ทิมเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ ข้าก็ได้อาศัยสีผึ้งเขียว ของหลวงพ่อทาบนี่แหละ จึงได้แม่อ้ายยอด มาจนทุกวันนี้ แม่อ้ายยอดเมื่อสาวๆ มันสวยอย่าบอกใครเชียว หนุ่ม ๆ มาจีบกันหัวกระไดแทบไม่แห้ง แต่ลุง (ตัวคนเล่า) มันพูดจาไม่เก่ง รูปก็ไม่หล่อ แรกๆแม่อ้ายยอดไม่เคยมองลุงเลย ความที่อยากเอาชนะไอ้พวกหนุ่มรุ่นเดียวกัน ลุงจึงดั้นต้นไปขอสีผึ้งเขียวหลวงพ่อทาบ ไปก็หลายครั้งหลายหนอยู่จนท่านจำได้และเห็นมาบ่อย ๆ หลวงพ่อทาบท่านเลยสงสารควักให้มาหัวไม้ขีดหนึ่งสั่งว่าเพียงเอาห่อติดตัว เวลาจะใช้กับผู้หญิงคนใดก็เพียงแต่ทำใจให้นึกเห็นใบหน้าเขาและเข้าไปหาเถอะไม่ช้าก็สำเร็จ และก็ได้ผลจริงๆไม่นานแม่อ้ายยอดเกิดสงสารเห็นใจลุง ทั้งที่ก่อนนั้นเขาไม่เคยชายตามองลุงเลย พวกหนุ่มบ้านอื่นงงเป็นไก่ตาแตก
 
ท่านผู้เฒ่าเล่าเสริมต่อไปว่า หลังจากได้แม่อ้ายยอดมาเป็นเมียและอยู่กับมาจนบัดนี้แล้ว ลุงเคยถามเขาว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดมารักลุง ทั้งๆ ที่แต่แรกไม่เคยสนใจลุงเลย แม่อ้ายยอดบอกกับลุงว่าเป็นเพราะอะไรไม่รู้ วันไหนถ้าไม่เห็นหน้าลุงใจคอมันหงุดหงิด ร้อนรุ่ม พอได้เห็นหน้าลุงแล้วสบายใจ และไม่ช้าลุงก็ชวนมันมาอยู่กับลุงเสียเลย ผมได้ถามลุงผู้เฒ่าว่า แล้วสีผึ้งนั้นอยู่ไหน? ขอผมดูหน่อย ท่านผู้เฒ่าบอกว่า เมื่อลุงได้เมียแล้วก็ไม่ได้ใช้อีกเลย เพราะหลวงพ่อท่านสั่งนักสั่งหนาว่าถ้าใช้กับผู้หญิงแล้วต้องเลี้ยงเขาเป็นลูกเมีย ห้ามทิ้งขว้าง ลุงได้แม่อ้ายยอดมาครองคนเดียวก็นับว่าพอใจแล้ว เลยหุ้มทองเก็บไว้ จนอ้ายยอดลูกหัวปีของลุงมันเป็นหนุ่มแล้ว ลุงจึงมอบให้มัน ก็ดูซิอ้ายยอดลูกชายลุงมีเมียตั้ง ๓ คน และอยู่บ้านเดียวกันทั้งนั้น หลานลุงมีเป็นพรวน มีเมียมากมันก็ไม่ดีหรอกหลาน หาเท่าไรไม่พอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย แต่ก็ดีไปอย่าง อ้ายยอดมันได้เขาแล้วมันก็ไม่ทิ้งไม่ขว้าง เลี้ยงเป็นลูกเป็นเมียทุกคน อ้ายยอดลูกลุงน่ะ มันไม่เท่าไหร่หรอก มีเพียงแค่ ๓ คน เท่านั้น แต่ลูกศิษย์หลวงพ่อทาบที่เคยบวชอยู่กับท่านคนหนึ่งซิ เดี๋ยวนี้ย้ายไปอยู่จันทบุรี มีเมียอยู่บ้านเดียวกันถึง ๖ คน ทุกคนปรองดองกันดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเลย แต่ลูกเป็นกระบุง แต่เขาก็มีฐานะดีนะ เรื่องสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบ ถ้าใช้เรื่องผู้หญิงรับรองได้เยี่ยมจริง ๆ
 
ท่านพระอาจารย์เสียน มนูญโญ เจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้ง ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงทาบ ตลอดจน คุณปถม อาจสาคร อดีตสหกรณ์อำเภอบ้านค่าย และคุณประชา ตรีพาสัย เพื่อนผู้เขียนซึ่งจูงใจให้ผู้เขียนไปรู้จักกับหลวงปู่ทิมจนได้สร้างพระชุดชินบัญชรอันเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้ เคยเล่าเรื่องอานุภาพของสีผึ้งเขียวหลวงพ่อทาบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้กันแพร่หลายทั่วจังหวัดระยองให้ฟังว่า
 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จ.ระยอง ได้จัดให้มีการประกวดนางสาวระยองขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อคัดคนส่งไปประกวดนางสาวไทยที่กรุงเทพฯ ในงานรัฐธรรมนูญที่วังสราญรมย์ อ. บ้านค่าย ก็สรรหาสาวงามส่งเข้าชิงชัยตำแหน่งนางสาวระยอง เหมือนกับอำเภออื่น ๆ เช่นกัน เมื่อได้สาวงามชาวอำเภอบ้านค่ายแล้ว ทางอำเภอก็นำสาวงามผู้นั้นมาขัดสีฉวีวรรณแล้วสอนกิริยามารยาทจนเป็นที่เรียบร้อย พอใกล้วันประกวดนางงามระยอง เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น สาวงามซึ่งจะเป็นตัวแทนสาวบ้านค่ายขึ้นเวทีประกวด เกิดสิวเห่อขึ้นเต็มหน้า เป็นที่ตกอกตกใจของคณะกรรมการอำเภอบ้านค่ายไปตามๆ กัน จะหาคนใหม่ก็ไม่ทัน ทุกคนต่างก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ต้องส่งสาวผู้นี้เข้าประกวดอยู่ดี เพราะเตรียมการไว้แล้ว แต่โอกาสที่สาวบ้านค่ายจะเป็นนางงามระยองคงหมดหวังแน่ ก่อนถึงวันประกวดคณะกรรมการอำเภอบ้านค่ายทนเสียงอ้อนวอนของผู้ปกครองเด็กไม่ได้ จึงยอมให้ผู้ปกครองเด็กสาวคนนั้นนำไปหาหลวงพ่อทาบ หลวงพ่อทาบท่านทำน้ำมนต์ให้อาบ แล้วให้สีผึ้งเขียวมาหนึ่งหัวไม้ขีดไฟ และยังปลุกเสกแป้งผัดหน้าให้อีกหนึ่งห่อ ทั้งกำชับให้เอาสีผึ้งติดตัวขึ้นไปบนเวทีประกวด และเวลาประกวดก็ให้ใช้แป้งที่ท่านปลุกเสกผัดหน้าขึ้นไปเดินบนเวทีทุกครั้ง ผลการตัดสินสาวงามระยองปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น ปรากฏว่าสาวน้อย อ. บ้านค่าย ได้ตำแหน่งนางสาวระยอง ทั้งๆ ที่ใบหน้าสิวขึ้นเยอะ ท่ามกลางความดีอกดีใจของชาวบ้านค่าย และความงุนงงของชาวอำเภออื่น ๆ และในปีต่อ ๆ มาอีก ๒-๓ ปี ชาวอำเภอบ้านค่ายก็ได้นางสาวระยองติดต่อกัน และนางงามบ้านค่ายทุกคนต่างไปขอให้หลวงพ่อทาบรดน้ำมนต์ปิดนะหน้าทอง ได้สีผึ้งเขียวติดตัวและปลุกเสกแป้งผัดหน้าให้เช่นกัน
 
อาจารย์ปถม อาจสาคร เล่าว่า แป้งผัดหน้านั้น หลวงพ่อทาบท่านลงนะนวลจันทร์ และตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยมของหลวงพ่อทาบ ก็ยิ่งโด่งดังขึ้น จนคนระยองถึงกับผูกวลียกย่องไว้ว่า “อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อเพ่ง เมตตามหานิยมหลวงพ่อทาบ อาคมหลวงพ่อทิม”
 
แม้หลวงพ่อทาบหรือท่านพระครูอรรถโกศล จะสงเคราะห์ผู้เกิดทุกข์เกิดร้อนด้วยการลงนะหน้าทอง อาบน้ำมนต์ ตลอดจนแจกสีผึ้งเขียว ให้ผู้เดือดร้อนจนสัมฤทธิ์ผลตามความปรารถนาแล้ว วิชาของท่านกลับมาย้อนทำลายใจของท่านเองเข้าจนได้ กล่าวคือพระลูกวัดท่านรูปหนึ่ง ซึ่งบวชอยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านมาหลายปีเกิดอยากสึกไปครองเรือน จึงมาอ้อนวอนขอสีผึ้งเขียวท่านโดยบอกกับท่านตรง ๆ ว่า ชอบผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง หลวงพ่อทาบใจอ่อนเห็นใจในความรักของหนุ่มสาวซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติหลวงพ่อทาบจึงให้สีผึ้งเขียวแก่ทิดสึกใหม่ผู้นั้นไปเพียงหนึ่งหัวไม้ขีด ทิดสึกใหม่คนนั้นก็เอาไปป้ายหญิงที่ตนรัก หญิงสาวก็หนีพ่อแม่ตามหนุ่มทิดสึกใหม่ผู้นั้นไปอย่างที่ใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง แต่ทว่าหญิงสาวคนนั้นก็คือ หลานสาวแท้ ๆ ของท่านเอง!!!
 
คุณลุงเจริญ เพชรนคร หลานแท้ ๆ ของหลวงพ่อทาบเล่าให้ผู้เขียนทราบถึงความเสียใจของท่าน โดยท่านพูดว่า “นิ้วเราเองมาทิ่มตาเราเอง ต่อไปนี้จะไม่แจกสีผึ้งแก่คนในบ้านค่ายอีก” แต่สำหรับคนที่มาจากแดนไกล หรือคนต่างถิ่น หลวงพ่อทาบท่านจะดูลักษณะความจำเป็น แล้วท่านจึงจะให้สีผึ้งเขียวไป แต่ก็ให้เพียงคนละนิดปริมาณเท่าหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น ผู้ได้สีผึ้งจากหลวงพ่อทาบจึงมักจะนำสีผึ้งนั้นไปหุ้มทองห้อยคอ เพราะถือเป็นของหายาก และกว่าจะได้มาจากหลวงพ่อทาบก็แสนจะยาก สีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบมีชื่อเสียงและนับเป็นเครื่องรางที่อยู่ในยุทธจักรนักนิยมพระเครื่องอย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อหลวงพ่อทาบไม่ให้สีผึ้งแก่ใคร และแม้จะให้ก็มอบให้ปริมาณน้อยมากเพียงแค่หัวไม้ขีดไฟ ก็เลยเป็นสาเหตุให้ผู้คนมาแสวงหาสีผึ้งเขียวมากยิ่งขึ้น เพราะของใดๆ ก็ตาม ถ้าได้ยากผู้คนมักจะอยากได้ แต่สำหรับคนบ้านค่ายและคนระยองแล้วหมดโอกาส เพราะหลวงพ่อทาบจะไม่แจกคนในบ้านเดียวกันอีกแล้ว แต่ท่านบอกว่า ท่านจะทิ้งสีผึ้งให้เป็นสมบัติโลก ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันถ้าอยากได้ และยังไม่ลืมของ ๆ ท่าน
 
กว่าจะเป็น “สีผึ้งเขียว”
 
ลุงเจริญ เพชรนคร เล่าว่าตัวท่านเองนั้น หลวงพ่อทาบได้เมตตาเลี้ยงดูมาตั้งแต่อายุได้ ๖ขวบ มีนิวาสสถานอยู่ ซากกอไผ่ ซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดกระบกขึ้นผึ้งมากนัก ลุงเจริญได้เรียนรู้วิชาต่าง ๆ ของหลวงพ่อทาบไว้มากมาย ตำราสำคัญบางเล่มของหลวงพ่อทาบก็ตกอยู่กับลุงเจริญ นอกจากจะเป็นศิษย์ผู้ร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ ของหลวงพ่อทาบแล้ว ตัวท่านเป็นนักเขียนภาพและช่างแกะสลักที่มีฝีมืออีกด้วย ท่านเป็นผู้แกะแพะหลวงพ่ออ่ำวัดหนองกระบอกมาตั้งแต่ครั้งแรกๆ และเมื่อหลวงพ่ออ่ำมรณภาพลง หลวงพ่อลัดวัดหนองกระบอกได้รับสืบทอดวิชาต่อ ท่านได้รับความไว้วางใจจากหลวงพ่อลัดให้เป็นผู้แกะแพะเขาควยถูกฟ้าผ่าอีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นผู้แกะพระปิดตาไม้รัก ของ หลวงพ่อทิม อิสริโก วัดละหารไร่ ซึ่งเรียกว่า “พระปิดตารุ่นอธิบดี” ด้วย จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบ ลุงเจริญ เพชรนคร โดยการแนะนำของพระครูนูญสาธุกิจ หรือพระอาจารย์เสียน เจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้งองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้พาไปพบลุงเจริญถึงบ้าน ลุงเจริญมีศักดิ์เป็นลุงของพระอาจารย์เสียน ลุงเจริญได้เล่าเรื่องราวของหลวงพ่อทาบให้ผู้เขียนทราบดังเรื่องราวที่ได้เขียนไว้ตั้งแต่ตอนต้น ๆ
 
สำหรับเรื่องราวของสีผึ้งเขียวนั้นลุงเจริญเล่าว่า เมื่อหลวงพ่อทาบบวชได้ ๙ พรรษา ทราบว่า ครูภู่ คนอุบล ซึ่งมาได้เมียชื่อ นางเก๋า เป็นสาวงามชาวบ้านกอไผ่ เป็นผู้มีวิชาดี โดยเฉพาะเรื่องสีผึ้งนั้น นับว่าเป็นเอก มีผู้คนรู้กิตติศัพท์แล้วไปขอมาใช้ก็ได้ผลสมความปรารถนาทุกราย หลวงพ่อทาบหลังจากผิดหวังไม่ได้เรียนวิชาพัดโบกจากหลวงพ่อกาจ วัดหนองสนม จึงสนใจวิชาทำสีผึ้งของครูภู่ คนอุบล ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นพระหนุ่มเพิ่งย่างเข้าพรรษาที่ ๙ อายุประมาณ ๓๐ ปี ไปมาหาสู่บ้านครูภู่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อขอวิชาสีผึ้ง ครูภู่เห็นความเพียรและหน่วยก้านของหลวงพ่อทาบแล้ว ก็ยินดีจะมอบวิชาทำสีผึ้งนี้ให้ ซึ่งต่อมาก็มอบวิชานี้ให้อย่างหมดเปลือก
 
ลุงเจริญเล่าว่า การทำสีผึ้งที่ครูภู่ คนอุบล มอบให้หลวงพ่อทาบนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ วิชาลบผงปถมัง ผงอิทธิเจ และผงตรีนิสิงเห นั้นเอง แต่วัสดุที่จะนำมาผสมผงปั้นเป็นแท่งดินสอนั้น ค่อนข้างจะหายาก ซึ่งต้องใช้ความมานะ อดทน และมีความเพียรในการการแสวงหา ได้แก่ ว่านต่างๆ หลายสิบชนิดไม้มงคลอีกหลายชนิด ประการสำคัญต้องหา ไม้แยงแย้ และไม้ไก่กุกมากวนสีผึ้ง ไม้แยงแย้นั้นพอหากันได้ เพราะหลังจากแสวงหามาถึง ๔ ปี หลวงพ่อทาบก็ได้ไม้แยงแย้มาสมใจนึก ส่วนไม้หายากที่สุดคือ “ไม้ไก่กุก” ซึ่งต้องใช้ความสังเกตและมีมานะอดทน เพราะจะต้องเป็นไม้ไก่กุกที่ผู้ทำสีผึ้งต้องเห็นไม้ไก่กุกด้วยตาตนเอง
 
ไม้ไก่กุกจะเป็นไม้อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นไม้ที่ไก่ตัวผู้ใช้จะงอยปากจิก หรือเคาะดังกุ๊ก ๆ เพื่อหลอกให้ตัวเมียวิ่งมาหา โดยคิดว่าไก่ตัวผู้กำลังเรียกมาจิกอาหาร เมื่อไก่ตัวเมียวิ่งมาหาไม้ที่ไก่ตัวผู้เคาะกุ๊กๆ แล้วมองหาอาหารอยู่ ไก่ตัวผู้ได้โอกาสก็จะจิกคอและขึ้นทับทันที ไม้ชิ้นที่ไก่ตัวผู้ใช้จะงอยปากเคาะกุ๊ก ๆ นั้นแหละ คือ “ไม้ไก่กุก” ถือว่าเป็นไม้อาถรรพณ์ที่เป็นต้นเหตุให้ไก่ตัวเมียวิ่งตามมาให้ตัวผู้ทับเพื่อสืบพันธุ์
 
ท่านเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ถือเป็นเคล็ดว่าไม้ชิ้นนี้เป็นไม้ที่มีเสน่ห์อย่างสูง ที่ใช้ลวงให้ไก่ตัวเมียวิ่งมาหาได้ ต่างก็แสวงหาไว้เพื่อเอาไว้สร้างวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังเป็นเสน่ห์มหานิยม เมื่อได้ไม้ไก่กุกมาแล้ว หลวงพ่อทาบก็จะนำมาเอาว่านต่าง ๆ และไม้มงคล รวมทั้งไม้ไก่กุกด้วยมาบดป่นทำเป็นผงปั้นเป็นแท่งดินสอ หลังจากนั้นหลวงพ่อทาบจะเอาถาดทองเหลืองขนาดกลางมารอง มีกระดานชนวนวางอยู่บนถาดทองเหลือง หลวงพ่อทาบจะครองสีจีวรเรียบร้อย รำลึกถึงครูบาอาจารย์แล้วท่านก็จะลงผงอิทธิเจ ผงปถมัง และผงตรีนิสิงเห จากที่ได้เรียนมา ด้วยการใช้แท่งดินสอซึ่งสร้างจากว่าน และไม้มงคลต่าง ๆ ปั้นเป็นชอล์ก เมื่อเขียนบนกระดานชนวน ก็จะหลุดลอดแผ่นกระดานชนวนลงไปในถาดทองเหลือง
 
ลุงเจริญเล่าว่า ท่านได้นั่งสังเกตเห็นหลวงพ่อทาบลงผงเต็มกระดาน แล้วเคาะให้ลอดกระดานลงไปอยู่ในถาดทองเหลือง เสร็จแล้วหลวงพ่อทาบก็จะรวบรวมผงนั้นใส่ขวด มีอยู่วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อทาบกำลังนั่งสมาธิลบผงอยู่นั้น ชอล์กที่ท่านเขียนเกิดหักดังเปาะขึ้น หลวงพ่อทาบสะดุ้งขึ้นตัว และเพ้อเสียสติทันที เป็นอยู่หลายวัน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ลุงเจริญ เพชรนคร จึงไปตามครูภู่ที่บ้านซากกอไผ่มาดูอาการ และรักษา ครูภู่ ชาวอุบล เมื่อเห็นอาการหลวงพ่อทาบแล้วทำน้ำมนต์ให้หลวงพ่อทาบอาบ หลวงพ่อทาบอาบกินน้ำมนต์ของครูภู่อยู่ ๒-๓ ครั้ง อาการก็กลับปกติ
 
สีผึ้งหลวงพ่อทาบสร้างขึ้นตามตำราของครูภู่ ชาวอุบล นั้นแรก ๆ ก็เป็นสีผึ้งธรรมดา ไม่มีสีเขียว ต่อเมื่อหลวงพ่อทาบมีชื่อเสียงทางด้านสีผึ้งมากขึ้น ท่านจึงได้นำใบของว่านชนิดหนึ่งผสมลงไปด้วย สีผึ้งก็เลยมีสีเขียวจนภายหลังเรียกกันว่า “สีผึ้งเขียว” คุณลุงเจริญเล่าว่าสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบนั้น ท่านทำเสร็จแล้วจะใส่ไว้ในโถโบราณซึ่งมีฝาครอบ ปรากฏว่าสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบนั้นจะงอกหรือเพิ่มปริมาณได้ตามความแรงของกำลังวัน บางครั้งสีผึ้งจะฟูขึ้นจนติดฝาครอบโถเกาะกันเป็นวงคล้ายๆ กับดอกของใบพลู ซึ่งเป็นรูปคล้ายดอกใบพลูนี้แหละขลังนัก ศิษย์วัดกระบกขึ้นผึ้งเมื่อเปิดฝาโถเห็นเข้าก็จะเอาใบจาก ซึ่งใช้สำหรับมวนบุหรี่สูบมาม้วนเป็นกรวยตักไป ใช้ได้ผลชะงัดนัก รายไหนรายนั้น มักหอบผ้าหอบผ่อนหนีตามคนป้ายไปและไม่เคยมีพลาดเลยสักรายเดียว ผมถามว่าต้องใช้ป้ายกี่ครั้งจึงจะสำเร็จ คุณลุงเจริญบอกว่าโดยมากมักครั้งเดียวก็สำเร็จ แต่ถ้าผู้หญิงบางคนดวงแข็งมีของดีคุ้ม หรืออำนาจดวงคุ้มครอง ก็ต้องใช้หลายหนหน่อย แต่สำเร็จทุกราย สีผึ้งของหลวงพ่อทาบนั้น มีเคล็ดวิธีการใช้ดุจเดียวกับหลวงปู่ทิม คือใช้ตามคำสั่งความสำคัญของนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้ว นับแต่หัวแม่โป้งเรื่อยมา
จนถึงนิ้วก้อยซึ่งเล็กที่สุด และวิธีจะใช้ป้ายผู้หญิงซึ่งหมายปองก็อย่าป้ายให้ต่ำกว่าบั้นเอวลงไป เวลาป้ายก็ให้ป้ายให้ถูกต้องเนื้อ อย่าให้ถูกผ้า เพราะจะได้ผลช้า
 
ครั้งที่ผมไปวัดกระบกขึ้นผึ้งเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้ว ก็ปรารถนาจะไปกราบนมัสการรูปเหมือนหลวงพ่อทาบ แต่ก็ได้ทราบจากท่านพระครูมนูญสาธุกิจหรือพระอาจารย์เสียน หลานแท้ๆ ของหลวงพ่อทาบว่าที่วัดไม่มีรูปเหมือนหลวงพ่อทาบ ผมจึงเรียนถามว่าทำไมท่านอาจารย์จึงไม่สร้างรูปเหมือนหลวงพ่อทาบขึ้นเพื่อให้คนทั่ว ๆ ไปที่นับถือท่านได้มากราบไหว้บูชา พระอาจารย์เสียนตอบว่า หลวงพ่อทาบท่านสั่งกำชับไว้ไม่ให้สร้างรูปหล่อของท่านขึ้นเด็ดขาด ท่านบอกว่าสร้างไว้ต่อไปก็ไม่มีคนรู้จัก เมื่อหมดยุคนี้ (คงหมายถึงยุคคนที่ทันท่าน) แล้วคนยุคต่อไปเขาก็ไม่รู้จัก อย่างไปสร้างไว้เลย แม้รูปหล่อเท่าองค์จริงก็ไม่ได้สร้างไว้ตามคำสั่งของหลวงพ่อทาบ แต่พระอาจารย์เสียนก็ได้สร้างรูปหล่อหลวงพ่อทาบ ขนาด ๕ นิ้ว จำนวนหนึ่งประมาณ ๔๐๐องค์ โดยขอให้หลวงปู่ทิมเป็นผู้ปลุกเสก ซึ่งหลวงปู่ทิมก็ทำให้ด้วยความเต็มใจเพราะหลวงพ่อทาบ และหลวงปู่ทิมนั้น ท่านเป็นเพื่อนรักกัน
 
ทาบ-ทิม
 
ทุกครั้งที่หลวงพ่อทาบสร้างพระเครื่องหรือเหรียญรูปท่าน หลวงพ่อทาบก็จะนิมนต์หลวงปู่ทิมมาช่วยเพิ่มพลังจิตปลุกเสกทุกครั้ง จนอาจารย์ปถม อดีตสหกรณ์ จ.ระยอง ถึงกับพูดว่า ถ้าพระเครื่องหลวงพ่อทาบแล้ว ต้องถือว่าเป็นพระเครื่องหลวงปู่ทิม เพราะหลวงปู่ทิมมาปลุกเสกให้ ท่านอาจารย์ปถมได้พูดถึงสองพระอาจารย์ว่า ทาบทิม ทาบทิม หมายถึง ของของหลวงพ่อทาบก็คือของหลวงปู่ทิม ของหลวงปู่ทิม คือ ของหลวงพ่อทาบ
 
อาจารย์ปถมคุ้นเคยกับหลวงพ่อทาบและหลวงปู่ทิม ตลอดจนพระเกจิอาจารย์ของบ้านค่ายเป็นอย่างมาก เพราะท่านอาจารย์ปถมสนใจในเรื่องราวเหล่านี้ และได้ไปรับราชาการที่ จ. ระยอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ อาจารย์ปถมเล่าถึงการทำวัตถุมงคลของหลวงพ่อทาบว่า นอกจากหลวงพ่อทาบจะเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงทางสีผึ้งเขียวดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังมีความรู้ทางเครื่องรางอย่างอื่นเหมือนกัน ครั้งหนึ่งหลวงพ่อทาบได้เขี้ยวเสือมา ๙ เขี้ยว ท่านให้คุณลุงเจริญ เพชรนคร แกะเป็นเสือขึ้น ๙ ตัว ท่านให้เขี้ยวเสือตัวใหญ่ที่สุดเป็นจ่าฝูงแล้วภาวนาปลุกเสกเรียกรูปนาม ตั้งอาการ ๓๒ ภาวนา ปลุกเสกจนเสือทั้ง ๙ ตัว นั้น มีชีวิตชีวาขึ้น ท่านจึงปล่อยเข้าป่าหลังวัด มันก็วิ่งหลบเข้าป่าโดยมีจ่าฝูงนำหน้า หลังจากนั้นหลวงพ่อทาบก็ภาวนาเรียกเสือกลับ แต่ท่านเรียกว่าเท่าไรเจ้าเสียอาคมทั้ง ๙ ตัวก็ไม่กลับมา และหลังจากนั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อทาบก็ไม่ดำริสร้างเขี้ยวเสือขึ้นมาอีกเลย ท่านพูดกับอาจารย์ปถมว่า “เราไม่มีวาสนาบารมีทางนี้” คงหมายถึง ท่านไม่ตบะเดชะมหาอำนาจนั่นเอง
 
นอกจากสีผึ้งเขียว ซึ่งเป็นวัตถุมงคลอันมีชื่อเสียงของหลวงพ่อทาบจนติดอันดับสีผึ้งของสยามประเทศแล้ว หลวงพ่อทาบท่านยังได้สร้าง เหรียญรูปเหมือนขึ้น 2 รุ่น คือ รุ่นรูปไข่ และรุ่นดอกบัว นอกนั้นท่านก็ยังสร้างผ้ายันต์ไว้จำนวนหนึ่งคราวฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา และก่อนจะมรณภาพไม่นาน ท่านได้สร้างพระเครื่องไว้อีกรุ่นหนึ่ง มีด้วยกันหลายพิมพ์ และได้นำเอาสีผึ้งผสมไว้ด้วย ทิ้งไว้เป็นสมบัติโลกให้แก่ผู้คนที่มีวาสนา ดังที่ท่านเคยลั่นวาจาไว้ “สมบัติโลก พระเครื่อง มรดกชิ้นสุดท้าย”
 
“สมบัติโลก พระเครื่อง มรดกชิ้นสุดท้าย”
 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ อาจารย์ปถมได้มาตำแหน่งสหกรณ์ จ.ระยอง ท่านเป็นผู้มีใจใฝ่ทางไสยเวทวิทยาคม สามารถทำผงลบผงพุทธคุณได้ เมื่อย้ายไปรับราชการ ณ ที่ใด ท่านก็มักจะสร้างพระ ณ ที่นั่น เมื่อท่านย้ายมารับราชการที่ จ.ระยอง จากการที่ได้เข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้อาจารย์ปถมได้คุ้นเคยกับเกจิอาจารย์ดังหลายรูป โดยเฉพาะที่ อ.บ้านค่าย เมื่อมาอยู่ก็เที่ยวสอบถามถึงความรู้ความสามารถของบรรดาเกจิอาจารย์ในท้องถิ่น ระยะนั้นพระเกจิชื่อดังก็มีหลวงพ่อโต วัดเขาบ่อทอง หลวงพ่อหิน วัดหนองสนม หลวงพ่อหอม วัดชากหมาก หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง ซึ่งรูปนี้เก่งทางสีผึ้งเมตตามหานิยม ส่วนอีกรูปแปลกว่ารูปอื่น ๆ ไม่ค่อยพูดกับใคร มีบางคนไปหาท่านรูปนี้แล้วไม่พูด ต่างนั่งมองหน้ากันอยู่เป็นเวลานาน สองนานไม่พูดกับท่านก่อนท่านก็จะนั่งอยู่อย่างนั้นไม่พูดด้วยก็เคยมี ขรัวรูปนี้ถือสันโดษอยู่ วัดละหารไร่ ต.ตาสิทธิ อ.บ้านค่าย ท่านมีของดีคือ ตะกรุดมหานิทรา ถ้าวางบนเสาเอกของบ้าน คนในบ้านนั้นจะหลับเสมือนถูกสะกด พระรูปที่ว่านี้ก็คือ หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่
 
สาเหตุที่อาจารย์ปถมได้รับการขอร้องจากหลวงพ่อทาบวัดกระบกขึ้นผึ้งให้ไปช่วยอำนวยการสร้างพระเครื่องครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตของ
ท่านก็มาจากที่อาจารย์ปถมได้เห็นปฏิปทาของหลวงปู่ทิมมาก่อนนั้นเอง อาจารย์ปถมเล่าว่า เมื่อทราบว่า หลวงปู่ทิมเป็นพระแปลกไม่พูดจากับผู้ใดชอบอยู่เงียบ ๆ อย่างสันโดษ อีกทั้งฉันมังสวิรัติมื้อเดียว ท่านมีปฏิปทาแบบเดียวกับท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ที่อาจารย์ปถมนับถือ ดังนั้นในเวลาไปราชการตามท้องที่ ก็ถือโอกาสไปพักบ้านกำนันเสถียร ซึ่งอยู่หน้าวัดละหารไร่ และอีกทั้งยังเป็นโยมวัดคนหนึ่ง (หมายถึงกรรมการวัด) อาจารย์ปถมเริ่มเฝ้าสังเกตวัตรปฏิบัติ เห็นว่าท่านหลวงปู่ทิมเป็นพระที่มีอารมณ์เยือกเย็น มีจริยาวัตรสมถะน่าเคารพเลื่อมใส มักน้อย สันโดษ ไม่ช่างพูด ไม่คิดในสิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งมวล คือไม่ฉันน้ำชา กาแฟ และไม่สูบบุหรี่ เมื่อเห็นปฏิปทา ท่านอาจารย์ปถม ก็เลยเอ่ยปากขอสร้างเหรียญโดยจะเป็นผู้ออกเงินสร้างเอง (ต้นปี พ.ศ. 2503) ท่านก็ส่ายหน้าไม่เอา อาจารย์ปถมจึงมุมานะลงมือสร้างผงลบผงปั้นเป็นองค์พระตามวิธีการที่ร่ำเรียนมาเสร็จแล้วก็ยกพระทั้งหมดซึ่งมีหลายพิมพ์ดังกันไปให้ท่านช่วยปลุกเสกได้
 
อาจารย์ปถมเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านตอบว่า “นี่ทำให้ไม่เป็น” ผมก็เลยกราบงาม ๆ ๓ ครั้ง แล้วบอกว่า “นั่นแหละครับผมต้องการอาจารย์ที่เสกไม่เป็น” ท่านก็ยิ้มไม่พูดอะไร จากนั้นก็กราบลาท่าน และทิ้งของไว้ ต่อมาทราบจากศิษย์ผู้ใกล้ชิดของท่านว่า ท่านบอกศิษย์นั่งอยู่วันนั้นว่า “คนนี้ฉลาดรู้ไหมในกล่องนั้นของวิเศษทั้งนั้น”
 
ด้วยเหตุที่หลวงปู่ทิม และหลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้งท่านเป็นเกลอกัน เมื่อหลวงพ่อทาบจะสร้างพระผงก็มาหารือกับหลวงปู่ทิมถึงการทำผงให้ถูกต้องตามตำรา โดยหลวงพ่อทาบไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งจารผงและลบผงเอง หลวงปู่ทิมจึงแนะนำว่า “โยมปถมนั่นแหละทำผงเก่ง และทำชะงัดนัก ยังเคยทำมาให้นี่เสกเลย” หลวงพ่อทาบจึงให้คนไปเชิญอาจารย์ปถมมาที่วัดกระบกขึ้นผึ้งและเอ่ยปากว่าจ้างให้ช่วยเป็นผู้อำนวยการสร้างพระผงให้ท่าน อาจารย์ปถมเล่าว่า ผมก็รับปากด้วยความยินดี โดยจะขอสร้างเป็นพุทธบูชาไม่ขอรับค่าจ้างน็นปฏิกิริยาจารย์ปถมได้รั้งสุดท้ขิ้นย ได้รับการขอร้องจากหลวงพ่อทาบวัดกร่ะม หลวงพ่อหอม วัดชากหมาก หลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง แต่อย่างใด แต่มีข้อแม้ว่าการปลุกเสกต้องนิมนต์หลวงปู่ทิมมาร่วมด้วย หลวงพ่อทาบไม่ขัดข้อง หลังจากนั้นไม่นานหลวงพ่อทาบก็อุตส่าห์ซ้อนรถมอเตอร์ไซด์ (สมัยนั้นถนนยังไปมาไม่สะดวก) ไปหาหลวงปู่ทิมเพื่อปรึกษาหารือในการสร้างพระในครั้งนี้และนิมนต์หลวงปู่ทิมไปปลุกเสกด้วย
 
อาจารย์ปถมท่านรู้ตัวดีว่าเป็นเพียงฆราวาสที่ยังข้องแวะอยู่ในโลกีย์ แม้จะทำผลเกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์อย่างไรผู้คนทั่วไปคงจะเชื่อถือยาก ดังนั้นจึงไปขอผงวิเศษจากวัดโพธิสัมพันธ์ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี ซึ่งหลวงพ่อบุญมีเป็นผู้ทำขึ้น นอกจากนี้ยังได้นำผงซึ่งโยคีฮาเล็บสร้างให้วัดสารนาถ อ. แกลง จ. ระยอง มาร่วมด้วย ผงวิเศษนี้สร้างโดยศิษย์สายพระอาจารย์มั่นภูริทัตเถระ ประกอบพิธีสร้างขึ้นที่วัดสัมพันธ์วงศ์ กทม. เป็นผงซึ่งหลวงพ่อลี วัดอโศการาม นำไปสร้างพระผงของท่าน อาจารย์ปถมเล่าว่า ได้รวบรวมผงทั้งหมดได้ประมาณ ๑ บาตรเต็ม ๆ แล้วจึงนำเอาไปถวายหลวงพ่อทาบที่วัดกระบกขึ้นผึ้งเมื่อหลวงพ่อทาบเห็นผงทั้งหมดแล้ว ท่านหัวเราะชอบใจ และบอกว่า “ผงนี้เฮี้ยวจริง ๆ มีทั้งนุ่ม ลึก และเข้มแข็ง” ผู้เขียนก็เลยเรียนถามว่า คำว่า “เฮี้ยวจริง ๆ และนุ่มลึก หมายถึงอะไร” อาจารย์ปถม อาจสาคร ตอบว่า “เป็นสำนวนที่หลวงพ่อทาบพูดเมื่อครั้งที่ผมเอาผงไปถวายท่าน ส่วนความหมายนั้นหมายความว่าผงนั้นขลังศักดิ์สิทธิ์และแรงจริง ๆ ท่านจึงใช้คำว่าเฮี้ยวจริง ๆ ส่วนนุ่มลึกคงหมายถึง แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลมีเสน่ห์ อันหมายถึงเมตตามหานิยมนั่นเอง” เมื่อได้ผงแล้ว หลวงพ่อทาบนำผงทั้ง หมดประมาณ ๑ บาตรเต็ม ๆ ไปผสมเข้ากับผงเก่า ๆ ของท่าน ซึ่งมีทั้งคัมภีร์โบราณเผา ดินมงคลต่าง ๆ ตามที่ท่านได้เสาะแสวงหาได้ เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีแล้ว หลวงพ่อท่านได้กดพิมพ์พระด้วยตัวท่านเองเป็นปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นท่านได้ขอร้องให้ชาวบ้านนุ่งขาวห่มขาวอาราธนาศีลทุกคนช่วยกดพิมพ์ขึ้น โดยอาจารย์ปถมเป็นผู้อำนวยการสร้าง คือแนะนำการตำผงคลุกเคล้าผงและกดพิมพ์
 
สำหรับพระชุดนี้เป็นพระผงดำทั้งหมด มีพิมพ์สมเด็จ เป็นพิมพ์เก่าที่ผมได้มาจากวัดเนิน จ.ระยอง เป็นวัดร้างเก่าแก่ติดกับวัดลุ่มมหาชัยชุมพล พิมพ์พระแบบสมเด็จที่ได้มา เข้าใจว่าเป็นพิมพ์สมัยหลวงปู่สังข์เฒ่า ทำด้วยหินมีดโกน อีกพิมพ์หนึ่งเป็นพิมพ์แม่นางกวัก พิมพ์นี้ ลุงเจริญ เพชรนคร หลานหลวงพ่อทาบเป็นเป็นผู้แกะพิมพ์จากหินมีดโกนเช่นกัน ส่วนพิมพ์พระปิดตามี 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่เป็นพิเศษ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์จิ๋ว นอกจากนี้ยังมีพิมพ์กลีบบัว อีกพิมพ์หนึ่งทั้งหมดสร้างด้วยเนื้อผงดำ ได้พระประมาณ ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับพระธรรมขันธ์
 
ที่สำคัญหลวงพ่อทาบได้นำสีผึ้งเขียวผสมเองลงไปด้วย ดังนั้นพระทุกองค์จึงมีส่วนผสมของสีผึ้งเขียว เมื่อพิมพ์พระเสร็จแล้ว หลวงพ่อทาบท่านปลุกเสกพระชนิดมวยเดี่ยวแต่เพียงองค์เดียวประมาณหนึ่งพรรษาเต็ม ๆ เมื่อใกล้จะถึงงานผูกพันธสีมาอุโบสถ หลวงพ่อทาบจึงทำพิธีปลุกเสกเสริมข้อบกพร่องอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าทำเพิ่มเสริมหรืออุดช่องโหว่ โดยไปนิมนต์หลวงปู่ทิมมาเป็นประธาน นับเป็นงานครั้งแรกของหลวงปู่ทิมที่ท่านได้ออกจากวัดละหารไร่มาร่วมพิธีปลุกเสก ปีนั้น พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงปู่ทิมมีอายุ ๘๓ ปี พอดี อาจารย์ปถมเล่าว่า การปลุกเสกครั้งนั้นนับว่าเป็นครั้งแรกของบ้านค่ายที่ชาวบ้านนำพระเครื่องของตนมาร่วมในพิธีปลุกเสกเพื่อเสริมพลังด้วย และในงานนี้มีอยู่รายหนึ่งนำเอาน้ำมันใส่ผมตรานางสงกรานต์เข้าพิธีด้วยหลายหีบ คิดว่าเพื่อให้เกิดเสน่ห์มหานิยม เอาไว้เพื่อผสมกับน้ำมันใส่ผมอื่นๆ ที่จะใช้ประจำวัน
 
สำหรับพระเกจิอาจารย์ที่เข้าร่วมปลุกเสกก็มี หลวงพ่อหอม วัดชากหมาก หลวงพ่อเย็น วัดบ้านแลง หลวงพ่อลัด วัดหนองกระบอก สำหรับหลวงพ่อทาบ อาจารย์ปถมบอกว่าท่านไม่ได้มาร่วมนั่งปลุกเสก ได้แต่นั่งรับแขก เพราะท้องท่านเสีย ทันทีที่พิธีปลุกเสกเริ่มขึ้นก็มีสิ่งประหลาดเกิดขึ้น เพราะเทียนคู่ที่ตั้งอยู่เกิดหงิกงอ มีรูปคล้ายหงส์ ฝาขาดน้ำมันใส่ผมตรานางสงกรานต์ ก็เกิดระเบิดขึ้นพร้อมกัน ๓-๔ ฝา ปลิวกระเด็นออกมาท่ามกลางความตกตะลึงของผู้เข้าร่วมในพิธี ทุกคนเชื่อว่าเป็นเพราะอานุภาพหลังจิตของหลวงปู่ทิม เพราะกล่องใส่น้ำมันอยู่ตรงหน้าหลวงปู่ทิมพอดี แม้ว่าอายุจะย่างเข้า ๘๓ ปี พรรษาที่ ๖๐ หลวงปู่ทิมท่านก็ลุกขึ้นเมื่อเลิกปรก ทั้ง ๆ ที่ในระหว่างนั่งปรก ทางเจ้าพิธีการได้แบ่งการปลุกเสกไว้ถึง ๔ ช่วง โดยปลุกเสกไปเกือบ ๒ ชม. ก็จะตีฆ้องครั้งหนึ่งเพื่อบอกกล่าวให้หลวงพ่อที่ปรกออกจากเข้าสมาธิ พักผ่อนดื่มน้ำชา กาแฟ ประมาณครึ่งชั่วโมง แต่หลวงปู่ทิมท่านนั่งปรกตลอด ๘ ชม. โดยไม่ลุกขึ้นผักผ่อนเลย และเมื่อท่านเลิกปรกเมื่อประมาณ 2 นาฬิกาเศษของวันใหม่แล้ว ท่านก็ไม่ยอมดื่มน้ำชาที่ทางเจ้าพิธีนำมาถวาย ท่านได้พูดเล่นกับอาจารย์ปถมว่า “ให้เสกแบบนี้เมื่อยตาย” จากนั้น
 
ก็กลับวัดเลย เมื่อศิษย์ถามว่า “ทำไมหลวงพ่อไม่ฉันน้ำที่เขาถวาย และไม่รับปัจจัยที่เขาถวาย” หลวงปู่ทิมตอบว่า “ถ้าฉันน้ำของเขา และรับปัจจัยที่เขาถวาย ก็จะไม่ได้บุญ เพราะเท่ากับรับจ้างเขาเสกพระ” ศิษย์ ถามต่อไปอีกว่า “ทำไมต้องนั่งพนมมือเสก รูปอื่น ๆ เขานั่งสมาธิมือขวาทับมือซ้ายกันทั้งนั้น” ท่านตอบว่า “พนมมือเสกพระดีกว่า เพราะถ้าเกิดนั่งหลับ เมื่อนั้นคนเขาจะได้รู้ เพราะมือที่พนมไว้มันจะตก”
 
พระผงผสมสีผึ้งหลวงพ่อทาบ มีทั้งหมด ๙ พิมพ์ ดังกล่าวแล้ว และเมื่อทำพิธีปลุกเสกเสร็จแล้ว ประชาชาแถบนั้นให้ความสนใจมาก ที่วัดกระบกขึ้นผึ้งวันถัดมาก็มีงาน ผู้ที่ทำบุญตั้งแต่ ๑๐-๒๐ บาท หลวงพ่อทาบก็จะแจกพระให้องค์หนึ่ง พระส่วนหนึ่งได้นำออกมาแจกในวันงาน และเก็บไว้แจกในวันต่อ ๆไป ส่วนอีกจำนวนหนึ่งหลวงพ่อทาบท่านได้บรรจุใส่ไหหลายใบ บรรจุไว้ในฐานพระประธานในอุโบสถ
 
ประสบการณ์พระผง
 
ในงานวัดกระบกขึ้นผึ้ง บรรดาหนุ่มในหมู่บ้านหลายแห่งได้มาพบกันในงานวัด และต่างก็ได้รับแจกพระเครื่องผงดำไปคนละองค์สององค์ ก็มีเรื่องเฮี้ยวเกิดขึ้นจนได้มีการเขม่นและเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันขึ้น เพราะบ้านค่ายนั้นเป็นดินแดนของหนุ่มชาวไร่อ้อย ชาวไร่มัน และหนุ่มโรงน้ำตาล ผู้คนมาจากทุกสารทิศ เรื่องตีรันฟันแทงมีขึ้นเป็นประจำทุกงาน ปกติหากวัดที่มีเกจิอาจารย์ดังๆ เป็นเจ้าวัด เวลามีงานท่านมักจะนำตะกรุดมหาระงับไปแอบฝังไว้ตรงลานวัด เพื่อระงับเหตุไม่ให้มีการทะเลาะกัน แต่หลวงพ่อทาบท่านไม่ได้ทำ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเลือดตกอย่างออกเลย ด้วยเหตุนี้พระเครื่องส่วนที่นำออกไว้แจกจึงหมดไปในเวลาไม่นาน และพระเครื่องชุดนั้นก็ดังระเบิด รายต่อมาสามล้อระยอง กำลังปั่นซาเล้งอยู่กลางถนน เสาไฟฟ้าเกิดหักลงเกือบจะทับรถ ซึ่งแล่นมาพอดี คนขับไม่เป็นอะไรเพราะในตัวมีพระผงซึ่งได้รับแจกมาจากหลวงพ่อทาบเพียงองค์เดียว เรื่องนี้ดังมากในตลาดยุดนั้น
 
ส่วนในด้านเมตตามหานิยม มีคนง่อยอยู่ใกล้วัดกระบกขึ้นผึ้งคนหนึ่ง นับถือหลวงพ่อทาบ และได้รับพระผงพิมพ์พระปิดตาไว้องค์หนึ่ง หลวงพ่อทาบสั่งว่าถ้าใช้ด้วยความศรัทธาและมั่นใจก็จะสัมฤทธิ์ผลทุกอย่าง ชายง่อยผู้นี้เป็นคนง่อยประเภทโด่ไม่รู้ล้ม มีภรรยาถึง ๖ คน ทุกคนอยู่กับชายง่อยด้วยความสามัคคี ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน จนเป็นที่อิจฉาของเพื่อนบ้าน กิตติศัพท์เรื่องนี้เคยมีคนมาขอซื้อพระองค์นี้ แต่เจ้าตัวไม่ยอมขาย
 
ในด้านอยู่ยงคงกระพัน ศิษย์ของหลวงพ่อทาบคนหนึ่ง ใช้พระพิมพ์สมเด็จที่หลวงพ่อทาบปลุกเสก ติดตัวอยู่เป็นประจำ เคยถูกลอบยิงด้วยปืนลูกซองเต็มแผ่นหลัง แต่ไม่ระคายผิวหนัง มีเพียงรอยไหม้เป็นจุดเล็ก ๆ เท่านั้น
 
อีกรายหนึ่งเป็นเรื่องราวขึ้นในสมัยหลวงพ่อทาบ มีหญิงคนหนึ่งชื่อ นางไม้ ใจกล้า อยู่บ้านหนองคอกหมู อ.บ้านค่าย ได้ออกไปเก็บผักเก็บหญ้ากลางทุ่ง ขณะนั้นฝนตกกำลังพรำ ๆ ฟ้าได้ผ่าถูกต้องนางไม้สลบที่ เสื้อผ้าที่สวมใส่ไหม้ไฟ สร้อยเงินที่ห้อยคอละลาย แต่พระพิมพ์หลวงพ่อทาบพิมพ์กลีบบัวยังอยู่ปกติ ผู้ที่มาช่วยปฐมพยาบาลร่างอันสลบไสลของนางไม้ต่างก็ตกตะลึงไปตาม ๆ กัน อิทธิปาฏิหาริย์หลายรูปแบบของพระเครื่องหลวงพ่อทาบมีมากมายหลายเรื่องในยุดนั้น จนเป็นที่กล่าวขวัญและเล่าลือกันทั่วไป
 
หลวงพ่อละสังขาร
 
หลวงพ่อทาบ เจ้าตำรับสีผึ้งเขียวอันโด่งดังได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ รวมอายุได้ ๘๙ ปี พรรษาที่ ๖๗ นับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่โด่งดังของภาคตะวันออก อีกรูปหนึ่ง ที่ผ่านมานี้ พระครูมนูญสาธุกิจ (เสียน) เจ้าอาวาสวัดกระบกขึ้นผึ้งรูปปัจจุบันได้ทำพิธีเปิดกรุพระผงดำหลวงพ่อทาบ ได้นำพระออกให้สาธุชนบูชา ได้เงินทั้งหมด ๓ ล้านบาทเศษ โดยมีครูบาอาจารย์ของโรงเรียนหลายแห่งของ อ.บ้านค่าย ร่วมเป็นกรรมการในการปิดกรุครั้งนั้น และพระทั้งหมดประมาณ ๔-๕,๐๐๐ องค์หมดไปในช่วงเวลาเพียง ๓-๔ วัน
 
พระสมเด็จสีผึ้งเขียวหลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง
 
สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยอาจารย์ปถม อาจสาคร เป็นผู้แนะนำ การตำ คลุกเค้าผงและกดพิมพ์พระ
ลักษณะ เป็นพระเนื้อผงผสมสีผึ้งเขียว สีดำเข้ม พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก มีทั้งแบบปิดทองคำเปลวด้านหน้าและไม่ปิด
พุทธคุณ อานุภาพสุดยอดด้านเสน่ห์เมตตามหานิยม คงกระพัน แคล้วคลาดและโชคลาภค้าขาย
มวลสารส่วนผสม
1.ผงวิเศษเก่าของหลวงพ่อทาบ
2.สีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบ
3.ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ของอาจารย์ปถม อาจสาคร
4.ผงถ่านคัมภีร์ใบลานโบราณเก่าของหลวงพ่อทาบ
5.ผงวิเศษของหลวงพ่อบุญมี วัดโพธิสัมพันธ์ อ.ศรีราชา ชลบุรี
6.ผงดินมงคลของหลวงพ่อทาบ
7.ผงโยคีฮาเล็บ วัดสารนาถ อ.แกลง
ปลุกเสกครั้งที่ 1
หลวงพ่อทาบปลุกเสกเดี่ยว 1 พรรษาเต็ม
ปลุกเสกครั้งที่ 2 รายนามพระเกจิอาจารย์ที่นั่งปรกปลุกเสก ณ วัดกระบกขึ้นผึ้ง
1.หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ รับนิมนต์เป็นประธานพิธี
2.หลวงพ่อหอม วัดซากหมาก
3.หลวงพ่อเย็น วัดบ้านแลง
4.หลวงพ่อลัด วัดหนองกระบอก
พระเกจิอาจารย์ได้เข้าสมาธินั่งปรกปลุกเสกตั้งแต่ 18.00 น. ถึงประมาณ 02.00 น. ของวันใหม่ โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ทิมอิสริโก รับนิมนต์มาปลุกเสกนอกวัดละหารไร่ และท่านได้นั่งปรกปลุกเสกรวดเดียว 8 ชั่วโมง โดยไม่หยุดพักฉันน้ำชา (ปกติจะลั่นฆ้องทุก 2 ชั่วโมงเพื่อให้พระคุณเจ้าได้ถอนสมาธิพักผ่อนอิริยาบถและฉันน้ำชาประมาณ 30 นาที)

 
พระเครื่องอื่น ๆ
ไม่พบสินค้าในฐานข้อมูล หมวดหมู่นี้
 
ตะกร้าพระเครื่อง

ดูตะกร้าพระเครื่อง
แจ้งการชำระเงิน
ตรวจสอบวันจัดส่ง
สถานะการส่งพระเครื่อง

พระเครื่องแนะนำ

เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ศิลป์วัดกลาง จ.สมุทรปราการ  

พระโชว์ บาท


สิงห์หน้าโบสถ์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี  

พระโชว์ บาท


ตะกรุดโสฬสมงคลหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ตะกั่วถ้ำชา จ.นนทบุรี  

พระโชว์ บาท


เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย พิมพ์พิเศษ(หน้าหมา) จ.สมุทรปราการ  

พระโชว์ บาท


กะลาราหูหลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม  

พระโชว์ บาท


เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ลูกที่ 2  

พระโชว์ บาท


หนุมานหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม  

พระโชว์ บาท


เสือหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม  

พระโชว์ บาท


เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ลูกที่ 1  

พระโชว์ บาท


พระเครื่องแนะนำทั้งหมด
เปิดโลกพระเครื่อง
เปิดโลกสมเด็จ
เปิดโลกพระกรุ
ทำเนียบสมเด็จพระสังฆราชไทย
ตำนานพระพุทธรูป
หลักการดูพระเบื้องต้น
รายนานเกจิอาจารย์
อ่านบทความทั้งหมด