รูปถ่ายซีเปียพระสังวรานุเถร(เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม(วัดพลับ) ปีพ.ศ.๒๔๔๒ ขนาด 9*11 นิ้ว ไม่รวมการด์
ผู้ถ่ายขุนฉายาสาทิศกร(นายทองดี จิตราคนี) ช่างภาพหลวง บุตรชายของหลวงอัคนีนฤมิตร
และ ท่านขุนเรียนการถ่ายรูปมาจาก Hamburg Germany. กล่าวถึงภาพถ่ายฝีมือนายจิตร(หลวงอัคนีนฤมิตร)
มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ภาพมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ดูไม่คมชัด
เนื่องจากน้ำยาอัดรูป มีเครื่องกำกับงานลึกลงไปในกระดาษมีคำว่า Francis Chit &son ส่วนใหญ่ควรเป็นงานของลูกชายที่ชื่อทองดี
ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนฉายาสาทิศกรเมื่ออายุประมาณ ๑๗-๑๘
ปีก่อนนายจิตรจะถึงแก่กรรมสองสามปี (นายจิตรจะเลิกถ่ายรูป
มอบกิจการให้ลูกเมื่อไหร่ไม่มีข้อมูล
งานในระหว่างลูกกำลังโตเป็นหนุ่มจึงคาบเกี่ยวกัน
ยากที่จะแยกให้เด่นชัดลงไปได้ว่าเป็นฝีมือใคร) ที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านคุณหลวง
เทคนิคการถ่าย ลูกเล่นในการด์มีการเดินเส้นเขียนลายน้ำทองขลิบทอง น้ำยา และ ปิดรูปลงบนกระดาษแข็งและกดเครื่องกำกับงานลึกลงไปในเนื้อกระดาษมีข้อความโค้งเป็นรูปวงรีอย่างลูกรักบี้ว่า
F.
Chit & Son
Siam
Bangkok
F ย่อมาจากคำว่า Francis ซึ่งเป็นชื่อนักบุญในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาโทลิก
ใช้เป็นชื่ออยู่หน้าชื่อผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก
Chit
หมายถึง นายจิตร จิตราคนี และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอัคนีนฤมิตร ช่างภาพหลวง
Son
หมายถึง บุตรของนายจิตร ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนฉายาสาทิศกร
ช่างภาพหลวง
ประวัติพระสังวรานุวงศ์เถร มีนามเดิมว่า เอี่ยม ท่านเป็นบุตรคหบดี
บิดามีนามว่า เจ้าสัวเส็ง มารดามีนามว่า จัน เกิดเมื่อ วันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน
๗ ปีเถาะ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๙๓ ตรงกับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๔ ในรัชกาลที่ ๓
ที่บ้านท่าหลวง ริมคลองบางหลวง อ.บางกอกใหญ่ จ.ธนบุรี
เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี มารดาบิดา ได้นำท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์
พระญาณโกศลเถร (รุ่ง) ต่อมาท่านอายุ ๑๕ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในสำนักพระญาณโกศลเถร
(รุ่ง) เรียนอักขรสมัยในสำนัก พระมหาทัด (พระอมรเมธาจารย์) วัดราชสิทธิ์ฯ
เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ตรงกับปีพระพุทธศักราช ๒๓๙๕ ในรัชกาลที่ ๔ ได้อุปสมบท ณ.
พัทธสีมา วัดราชสิทธาราม พระญาณโกศลเถร (รุ่ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวร (บุญ)
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอมรเมธาจารย์ (ทัด) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อุปสมบทแล้วภายในพรรษานั้น พระญาณโกศลเถร (รุ่ง) พระอุปัชฌาย์ของท่าน
ก็ถึงมรณะภาพลง เมื่อออกพรรษาของทุกปี ท่านได้ออกสัญจรจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ
ไปกับพระอาจารย์บ้าง ไปเองบ้าง ไปทุกแห่งหน ปีพระพุทธศักราช ๒๔๒๙ ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์
เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระสังวรานุวงศ์เถร เจ้าคณะใหญ่อรัญวาสี
มีนิตยภัต ๓ ตำลึง และควรตั้งถานานุศักดิ์ได้ ๓ รูปคือ พระปลัด ๑ พระสมุห์ ๑
พระใบฏีกา ๑ ได้รับพระราชทานพัดงาสาน ทรงพระราชทานบาตรฝาประดับมุก จ.ป.ร.
ท่านเป็นพระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนาธุระวัดราชสิทธารามองค์ต่อมา
และรักษาการเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม ปีพระพุทธศักราช ๒๔๓๐
เป็นเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม เจ้าคณะใหญ่อรัญวาสีการศึกษาสมัยท่าน การศึกษาพระวิปัสสนาธุระเจริญมาก พระสังวรานุวงศ์เถร(เอี่ยม)
เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระปลัดชุ่ม เป็นพระอาจารย์ผู้ช่วย
ด้านพระกรรมฐานมีพระเถรานุเถระ มาศึกษาพระกรรมฐานมากมายเช่น พระภิกษุบุญ (พระพุทธวิถีนายก) วัดกลางบางแก้ว, พระภิกษุเอี่ยม
(พระภาวนาโกศลเถร) วัดหนัง บางประวัติว่าศึกษากับพระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ),
พระสมุห์ชุ่ม สุวรรณศร วัดอมรินทร์, พระภิกษุมั่น
หรือพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งต่อมาพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม)
ให้พระอาจารย์มั่นไปศึกษาต่อกับ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโร
ซึ่งเป็นศิษย์วัดพลับมาแต่เดิม, พระวินัยธรรม เจ๊ก วัดศาลารี
ตลาดขวัญ (นนทบุรี), พระอาจารย์โหน่ง สุพรรณบุรี, พระอาจารย์น้อยสุพรรณบุรี ต่อมาพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม)
ให้ทั้งสองท่านไปเรียนต่อกับพระอาจารย์เนียม ซึ่งเป็นศิษย์วัดพลับมาแต่เดิม,
พระภิกษุปาน (วัดบางเหี้ย)ฯลฯ
พระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) ท่านมีอุปนิสัยรักสันโดด
มีของสิ่งใดมักจะให้ทานแก่ผู้อื่นหมด เมื่อท่านไปกิจนิมนต์
ได้ไทยทานมาท่านจะนำมาแจกทานแก่พระภิกษุสามเณร ภายในวัดจนหมด
แม้ของในกุฏิท่านก็ให้ทานจนหมด ท่านมีมรดก ซึ่งมารดาบิดายกให้ ท่านก็ไม่เอา
ยกให้พี่น้องหมด ชาวบ้านมักเรียกขานนามท่านว่า หลวงพ่อใจดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตรัสเรียกนามท่านว่าหลวงพ่อผิวเหลือง เพราะผิวท่านเหลืองดังทอง สมัยท่านมีชีวิตอยู่ ท่านมีพรหมวิหารแก่กล้ามาก
กล่าวว่า อีกาตาแวว อีกาขาว มักมาเกาะอยู่ที่กุฎิของท่านเสมอ
เวลาท่านไปไหนมาไหนในวัดพลับ พวกอีกาตาแวว อีกาขาว มักบินตามท่านไปด้วยเสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระเมตตา
ท่านเจ้าคุณพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) มาก ถึงคราวพระราชทานผ้าพระกฐินทาน
ณ.วัดราชสิทธาราม ต้องเสด็จมาทรงเยี่ยมท่านก่อนเสมอทุกครั้ง ประมาณปีพระพุทธศักราช
๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานเตียง
หรือตั่งอยู่ไฟ ของเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ ถวายพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม)
วัดราชสิทธาราม พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทำการซ่อมแซมเสนาสนะสงฆ์ในบริเวณคณะ ๑ กุฎิเจ้าอาวาส
ที่สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ พร้อมกันนั้นทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ช่างทาพื้นกุฎิด้วยชาดแดง พร้อมทาชาด เตียง หรือตั่งอยู่ไฟ ของเจ้าจอมในรัชกาลที่
๔ ปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๐ นั้นพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม)
ท่านชราทุพพลภาพลงมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานแคร่คานหาม
ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดราชสิทธาราม เดิมรัชกาลที่ ๓ พระราชทานให้พระเทพโมลี
(กลิ่น)พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานแคร่คานหาม
พร้อมกับมีพระดำรัสตรัสสั่งให้ประกาศว่า ถ้าใครนิมนต์ หลวงพ่อผิวเหลือง
(ซึ่งหมายถึงพระสังวรานุวงศ์เถรเอี่ยม บางที่ก็เรียกท่านว่า หลวงพ่อใจดี )
ไปกิจนิมนต์ ต้องถวาย ๑ ตำลึง บางแห่งว่าถ้านิมนต์ท่านไปเกิดอาพาธขึ้นมาต้องจ่าย ๑
ตำลึง ทั้งนี้เพราะมีพระราชประสงค์ ไม่ให้ใครมารบกวนท่าน เพราะท่านชราทุพพลภาพมาก
แต่นั้นมาเมื่อท่านไปกิจนิมนต์ ได้ปัจจัยไทยทานกลับมา ท่านก็จะเอาไว้ที่หอฉัน แล้วประกาศว่า
พระภิกษุสามเณร ขาดปัจจัยไทยทานสิ่งใดให้มาหยิบเอาที่หอฉัน
สมัยต่อมาท่านมีของสิ่งไรท่านก็บริจาคจนหมด ไม่เหลือ เหลือแต่อัฏฐะบริขารเท่านั้น สมัยที่ท่านครองวัดนั้น
มีพระภิกษุสามเณร ปะขาว ชี มาศึกษาพระกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ กับท่านกันมากมาย
เพราะเป็นศูนย์กลางกรรมฐาน ของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านมีศิษย์ทั้งในเมือง
และหัวเมือง ยุคของท่านนั้นมีชื่อเสียงมากทางปฎิบัติภาวนา เป็นที่เกรงใจของคณะสงฆ์
และในสมัยนั้นยังไม่มีสำนักพระกรรมฐานที่ไหนเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มีสำนักวัดราชสิทธารามเป็นสำนักใหญ่แห่งเดียว
เพราะเป็นวัดอรัญวาสีมาแต่เดิม เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ จะมีผู้คนเอาเงิน
มาใส่พานให้ท่านทุกวัน ท่านก็จะเอาเงินนั้นแจกทานจนหมดทุกวัน โดยให้มาหยิบเอาเอง
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อคราวที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินมา
ทอดผ้าพระกฐินทาน ต้องมากราบนมัสการ พระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) ทุกครั้ง
คราวนั้นพระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) วัดพลับ จะเอาของมาตั้งรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) ได้บอกกับ พระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม)ว่า
ของนี้ให้ยืมไว้รับเสด็จ ห้ามให้ใคร ที่บอกอย่างนี้เพราะมีของอะไรใกล้มือ
ท่านจะให้ทานหมดเมื่อมีคนขอ ปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ท่านมีสติสัมปชัญญะรู้ตัว
ก่อนมรณะภาพประมาณเจ็ดวัน เมื่อสิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑
ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ๒๖ ปี
ท่านเป็นพระสังฆเถรที่มีชื่อเสียงผู้คนเคารพนับถือมากในสมัยนั้น กล่าวว่าเมื่อท่านมรณะภาพไม่นาน
คณะศิษยานุศิษย์ ทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส
ทราบข่าวพากันมาเคารพศพท่านกันแน่นลานวัด สรีระของท่าน
คณะศิษยานุศิษย์เก็บไว้บำเพ็ญกุศล ประมาณ ๕ ปี (พ.ศ.๒๔๖๑) จึงพระราชทานเพลิงศพ ส่วนหีบชั้นในที่ใส่สรีระของพระสังวรานุวงศ์เถร
(เอี่ยม) นั้น ท่านเจ้าคุณพระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) ได้นำมาต่อเป็นเตียงไว้จำวัด
สำหรับปลงพระกรรมฐาน เป็นการกำหนดสติระลึกถึงความตายเนืองๆ
ต่อมาพระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) และคณะศิษยานุศิษย์ ได้หล่อรูปพระสังวรานุวงศ์เถร
(เอี่ยม) ประดิษฐานไว้ที่มุมเจดีย์ด้านหน้าพระอุโบสถ ข้างทิศเหนือ
เป็นที่สักการบูชามาจนทุกวันนี้
เมื่อคราวงานพระราชทานเพลิงศพ พระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) นั้น
ประมาณปีพระพุทธศักราช ๒๔๖๑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาพระราชทานเพลิงศพ
สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร
เสด็จมาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ จัดเป็นรูปที่หายากมากรูปหนึ่ง
|