พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า จ.ราชบุรี
เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงขึ้นใยแมงมุม ขุดพบเมื่อปี ๒๕๐๔ ที่วัดศาลเจ้า
ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองราชบุรี สร้างมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
โดย หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
เมื่อปี ๒๔๖๕
ได้เกิดอสุนีบาตฟ้าฟาดองค์พระเจดีย์ ทำให้พระเครื่องแตกกรุออกมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดย
เถ้าแก่ปู้ เจ้าของโรงสีใกล้วัดศาลเจ้า
พร้อมทั้งได้สร้างพระเครื่องบรรจุไว้อีกหลายแบบพิมพ์
ต่อมาในปี ๒๕๐๔
พระเจดีย์ได้ชำรุดลงอีก ได้มีผู้พบพระเครื่องอยู่ภายในองค์เจดีย์เป็นจำนวนมาก
โดยมีพระเครื่องหลายชนิด มากด้วยพิมพ์ทรง มีทั้งเนื้อชิน เนื้อผง และเนื้อว่าน
พระที่พบในครั้งที่มีจำนวนมากที่สุด คือ พระพิมพ์ขนาดเล็ก
เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ซึ่งมีทั้งสนิมแดงจัด และสนิมแดงแซมไข
เนื่องจากเนื้อตะกั่วแก่ชินนั่นเอง สันนิษฐานว่า
พระพิมพ์ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ในคราวที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ในยุคแรก
ส่วนพระพิมพ์อื่นๆ
เช่น พระผงพิมพ์กลีบบัว พระพิมพ์เนื้อว่าน ฯลฯ น่าจะสร้างในคราวที่เถ้าแก่ปู้
บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ในคราวหลัง
พระท่ากระดานน้อย
กรุวัดศาลเจ้า พุทธลักษณะ เป็นพระปางมารวิชัย ประทับนั่งโดยไม่มีฐานรองรับ
รายละเอียดบนพระพักตร์ปรากฏไม่ชัดเจนเลย ไม่มีทั้งพระเนตร พระขนง พระโอษฐ์
และพระนาสิก มีแต่โครงหน้าพระพักตร์เรียบๆ เท่านั้น
นอกจากนี้
ขอบองค์พระยังปรากฏปีกด้านข้างทุกองค์ ทั้งประเภทปีกกว้าง และปีกชิด
เป็นพระเนื้อชินสนิมแดง คล้ายกับพระกรุท่าเสา จ.กาญจนบุรี
แต่ลักษณะสนิมแดงของพระกรุวัดท่าเสา จะดูแดงเข้มจัด
และไขมันสดกว่าของกรุวัดศาลเจ้า เพราะอายุของพระกรุวัดท่าเสามีความเก่ามากกว่ากัน
นอกจากนี้พระกรุวัดท่าเสา องค์พระจะมีหน้าพระพักตร์
และพระกรรณทั้งสองข้างปรากฏให้เห็นชัดเจนกว่าของกรุศาลเจ้า Cr.ข้อมูลจากคมชัดลึกออนไลน์
|