เหรียญหล่อหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จ.พิจิตร พิมพ์เศียรโล้น
เป็นพิมพ์ที่หายาก เทหล่อแบบเบ้าประกบติดช่อครบเครื่องเรื่องเหรียญหล่อโบราณ ดูง่ายสบายตาและของเลียนแบบมีออกมามากมายจากข้อมูลสร้างในคราวที่หลวงปู่เอี่ยม
เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและเป็น เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร
เทหล่อพระหลวงพ่อเพชรจำลองไปไว้ที่วัดนครชุม เมืองเก่า พิจิตร
ซึ่งแน่นอนต้องมีหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานมาร่วมปลุกเสก เพราะ หลวงปู่เอี่ยม หรือ
พระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ มงคลพิจิตร สังฆปาโมกข์(เอี่ยม) เป็นเจ้าอาวาส ก่อนปี พ.ศ.
2442 ถึง ปี พ.ศ. 2460 อยู่ในยุคเดียวกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
มูลเหตุในการสร้างหลวงพ่อเพชรจำลอง ไว้ที่
วัดนครชุม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.พิจิตร เมืองพิจิตรเก่า พ.ศ. 2442
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร มีพระราชประสงค์จะอันเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ชาวเมืองพิษณุโลกพากันเศร้าโศกไปทั้งเมือง พระองค์จึงมี พระบรมราชโองการให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามไปแทนพระพุทธชินราช เจ้าพระยาศรีสุริยศักดิ์ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก
ทราบว่าหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรมีพุทธลักษณะงดงาม จึงแจ้งให้พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม)
เจ้าเมืองพิจิตรทราบ
พร้อมทั้งให้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรขึ้นไปที่เมืองพิษณุโลก
ชาวเมืองพิจิตรเมื่อได้ทราบข่าวก็เกิดการหวงแหน ได้นำหลวงพ่อเพชร ไปซ่อนไว้ตามป่า
แต่คณะกรรมการเมืองก็ได้ติดตามกลับคืนมาได้และอันเชิญ หลวงพ่อเพชรมาไว้ที่วัดท่าหลวง เมืองพิจิตร
(ใหม่)
เพื่อรอการอันเชิญไปประดิษฐานที่เมืองพิษณุโลกต่อไป เหตุการณ์ครั้งนั้นยังความเศร้าโศกเสียใจให้กับชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยชาวเมืองพิษณุโลกและชาวเมืองพิจิตร จึงโปรดเกล้าฯ
ให้ระงับการนำพระพุทธชินราชและหลวงพ่อเพชรไปกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้หล่อ พระพุทธชินราชจำลอง เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดเบญจมบพิตรแทน
หลวงพ่อเพชรจึงไม่ต้องถูกนำไปเมืองพิษณุโลก
ชาวเมืองพิจิตรพากันแสดงความยินดี
มีมหรสพสมโภชเป็นการใหญ่เมื่อเสร็จการสมโภชแล้วชาวเมืองพิจิตร (เก่า)
ก็เตรียมการที่จะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกลับคืนไปประดิษฐานที่วัดนครชุมตามเดิม แต่ชาวเมืองพิจิตร (ใหม่)
ก็มีความเห็นว่าสมควรที่จะประดิษฐานที่วัดท่าหลวง
เพราะเมืองพิจิตรได้ย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่แล้ว ไม่ยอมให้ชาวเมืองพิจิตร (เก่า)
นำหลวงพ่อเพชรคืนไป
จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต
เจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์
(เอี่ยม)
ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้นได้เข้าทำการห้ามปรามระงับเหตุได้ทัน
โดยให้ทำการหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองขนาดเท่าองค์เดิมไปประดิษฐานที่วัดนครชุม เมืองพิจิตร
(เก่า) แทน และนับตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อเพชรก็ประดิษฐานเป็น
พระประธานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดท่าหลวง อำเภอเมือง
จังหวัดพิจิตร มาจนถึงปัจจุบัน
|